Photo by Jonathan

พื้นที่พรุในอาเซียน: ระบบนิเวศสำคัญในการบรรเทาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

Author: Robert Finlayson   |   November 6, 2021  |   Initiatives   |   Location

ผู้แทน COP26 อธิบายถึงการปกป้องที่พยายามทำอย่างต่อเนื่อง

พื้นที่พรุเป็นหนึ่งในระบบนิเวศที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในการดักจับและกักเก็บคาร์บอน  สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กำลังมีบทบาทสำคัญในการพยายามให้การปกป้องพื้นที่พรุเหล่านั้น โดยผู้แทนต่างๆ ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดด้านการแก้ปัญหาภาวะอากาศเปลี่ยนเเปลงผิดธรรมชาติ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์

ใน 10 ประเทศอาเซียน ประเทศอินโดนีเซียมีพื้นที่พรุเขตร้อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสี่ของพื้นที่พรุทั้งหมดกว่า 20 ล้าน เฮกตาร์ ภูมินิเวศพื้นที่พรุดังกล่าว กักเก็บคาร์บอน 57.4 กิกะตัน โดยประมาณ หรือ 65 เปอร์เซ็นต์ของคาร์บอนในพื้นที่พรุทั้งหมดของอาเซียน ตามด้วยประเทศมาเลเซียที่กักเก็บคาร์บอนประมาณ 9.1 กิกะตัน หรือ 10 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด

ดินพรุ ซึ่งเป็นการสะสมทับถมของเศษใบไม้ กิ่งไม้ หรือส่วนอื่นๆ ของพืชที่ถูกน้ำท่วมแช่ขัง มักเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า “บึง” หรือ “ห้วย” กว่าหลายศตวรรษ การสะสมทับถมนี้สามารถทำให้ชั้นดินพรุมีความลึกมากขึ้นหลายเมตร ซึ่งกักเก็บปริมาณคาร์บอนจำนวนมหาศาลที่ไม่เช่นนั้นแล้วอาจถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศผ่านการย่อยสลายหรือการเผาไหม้ได้ โดยรวมแล้ว ปริมาตรดินพรุเขตร้อนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประมาณไว้ว่า มีมากกว่า 1,300 ลูกบาศก์กิกะเมตร หรือ 77 เปอร์เซ็นต์ของปริมาตรดินพรุเขตร้อนทั่วโลก แหล่งรวมคาร์บอนของดินพรุในภูมิภาคอยู่ที่ประมาณ 68.5 กิกะตัน ซึ่งคิดเป็น 11 ถึง 14 เปอร์เซ็นต์ของคาร์บอนของดินพรุทั่วโลก

ตัวเลขเหล่านี้เป็นจำนวนที่มากและน่าประทับใจ แต่เช่นเดียวกันก็เป็นจำนวนในทางลบ การปล่อยคาร์บอนจากการทำให้ชั้นดินพรุเสื่อมสภาพอันเนื่องมาจากการเกลี่ยพื้นดินและการระบายน้ำเป็น 1.3 ถึง 3.1 เปอร์เซ็นต์ของการปล่อย CO2ทั่วโลกในปัจจุบันจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล นอกจากนี้การเกิดไฟไหม้พื้นที่พรุซึ่งเผาไหม้เป็นเวลานานและดับได้ยาก โดยเกิดขึ้นจากสาเหตุตามธรรมชาติหรือการเผาไหม้เพื่อจัดการหน้าดินที่มีการระบายน้ำให้พร้อมสำหรับการเพาะปลูกนั้น เป็นแหล่งกำเนิดของการปล่อยของเสียออกมาในรูปแบบของควันพิษจำนวนมาก หรือที่เรียกกันอย่างสุภาพว่า “หมอกควัน” มาหลายทศวรรษ  ความพยายามเมื่อไม่นานมานี้ได้ลดการเกิดปรากฏการณ์นี้ลงเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นสถานการณ์หนึ่งที่คาดว่าจะทำให้มีการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรประมาณ 100,000 รายในภูมิภาค จากการแพร่กระจายของหมอกควันข้ามแดน มีการปิดโรงเรียน กิจการ และชุมชนทั้งหมดจนกว่าหมอกควันจะจางหายไป ซึ่งใช้เวลาหลายสัปดาห์

“อาเซียนกำหนดให้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอยู่ในวาระสำคัญของการประชุม และประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดเป็นคู่สัญญาของ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความตกลงปารีส” วง ศก หัวหน้าหน่วยสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการฝ่ายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภาคประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนแห่งสำนักเลขาธิการอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา กล่าว “ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกอาเซียนได้แสดงความมุ่งมั่นของตนในการพยายามบรรลุการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDCs) โดยการลดการปล่อยมลพิษในระดับชาติ อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของพื้นที่พรุนั้นยิ่งใหญ่มาก และศักยภาพของพื้นที่พรุในการมอบแนวทางการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐานและดีต่อสุขภาพนั้น ยังไม่ได้รับการตระหนักรู้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีส่วนร่วมใน NDCs และนำไปปรับใช้กับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ”

วง ศก แนะนำการประชุมย่อยในหัวข้อ ความสำคัญของพื้นที่พรุในอาเซียนต่อการมีส่วนร่วมในการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลก โดยเป็นส่วนหนึ่งของซุ้มแสดงข้อมูลพื้นที่พรุซึ่งจัดแสดงต่อเนื่องสองวัน ณ งานประชุม COP26

ซีรีส์นี้ร่วมกันจัดขึ้นโดยสำนักเลขาธิการอาเซียน ด้วยการสนับสนุนจากโครงการแผนปฏิบัติการสำหรับการจัดการพื้นที่ที่ปราศจากหมอกควันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งได้รับทุนจาก กองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมและโครงการการใช้ป่าพรุที่ยั่งยืนและการบรรเทาหมอกควันบูดิซูซานติ ผู้อำนวยการกรมควบคุมการทำลายพื้นที่พรุของกระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ในประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า

“ในส่วนของแผนปี 2020–2049 ของอินโดนีเซียในการปกป้องพื้นที่พรุนั้น เราได้ฟื้นฟูพื้นที่พรุประมาณ 3.6 ล้านเฮกตาร์ไปแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินการโดยผู้ถือสัมปทาน จากสัมปทาน 249 แห่ง ถูกแบ่งออกเป็นสวนป่าไม้ 70 แห่ง และสวนปาล์มน้ำมันอีก 224 แห่ง พร้อมมีสถานีติดตามระดับน้ำประมาณ 10,800 แห่ง ที่จัดตั้งขึ้นในสัมปทาน”

“เราเฝ้าติดตามระดับน้ำในพื้นที่พรุอย่างต่อเนื่องโดยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปียกซ้ำและการฟื้นฟูระบบนิเวศ เช่นเดียวกับเขตสัมปทาน เราได้นำพื้นที่ชุมชน 46,000 เฮกตาร์ เข้าภายใต้โครงการ Desa Mandiri Gambut หรือโครงการหมู่บ้านพื้นที่พรุอิสระ ซึ่งหมายความว่าชาวบ้านจะมีส่วนร่วมในการปกป้องและการจัดการพื้นที่พรุโดยตรง รวมถึงปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ไปพร้อมกัน”

บูดิซูซานติเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสนับสนุนทางด้านการเงินและทางเทคนิคจากหน่วยงานผู้บริจาคและประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนา siMATAG-0.4m ระบบเฝ้าติดตามที่สำคัญ ซึ่งขยายความยาวของประเทศ โดยอ้างอิงโยงจากภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูงที่มีการทดสอบและวัดในสนามเพื่อเพิ่มความถูกต้องแม่นยำและลดข้ออ้างเท็จ นอกจากนี้โครงการนี้ยังดำเนินการลุล่วงในงานด้านอุทกวิทยาที่สำคัญ เช่น การปิดกั้นคลองระบายน้ำเดิมเพื่อชุ่มเปียกดินพรุอีกครั้ง และฝึกอบรบผู้ให้บริการชุมชนหลายร้อยคนเพื่อช่วยชุมชนให้ปรับใช้แนวทางการเพาะปลูกและการป่าไม้ของตน

“เข้าใจได้ง่ายมากว่าทำไมพื้นที่พรุจึงสำคัญต่อการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ธิโบต์ ปอร์เตวิน หัวหน้าฝ่ายความร่วมมือกับคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำอินโดนีเซียและอาเซียนกล่าว “พื้นที่พรุเป็นอ่างกักเก็บคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพที่สุดบนโลกนี้ กล่าวคือ 3 เปอร์เซ็นต์ของพื้นดิน 30 เปอร์เซ็นต์ของคาร์บอน พื้นที่พรุเหล่านั้นกักเก็บคาร์บอนมากกว่าการใช้ที่ดินประเภทอื่นๆ ทั้งหมดรวมกันโดยที่ไม่ถูกรบกวน นอกจากนี้พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นระบบนิเวศที่เป็นเอกภาพเฉพาะตน ซึ่งทำให้มีแหล่งที่อยู่อาศัยที่หลากหลายสำหรับบรรดาพื้นพันธุ์และเหล่าสัตว์เฉพาะถิ่น จากปฏิญญาคุนหมิงและ COP26 ในครั้งนี้ เราต้องให้ความสนใจกับพื้นที่พรุ แม้จะมีความสำคัญ แต่พื้นที่เหล่านั้นก็มีการถูกคุกคามสูงที่สุดในบรรดาป่าและพื้นที่ชุ่มน้ำทั้งหมด การเปลี่ยนแปลงนั้นมีต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์สูงซึ่งมักไม่ได้รับการพิจารณา เช่น การลดอาหารและทรัพยากรอื่นๆ ดังนั้นผลประโยชน์และต้นทุนทั้งหมดจะต้องถูกนำมาพิจารณา”

ปอร์เตวินอธิบายต่อไปว่าปฏิญญาสำหรับการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้นในการประชุม COP26 นั้นจะมีส่วนช่วยในการปกป้องพื้นที่พรุ สำหรับสหภาพยุโรปเพียงสหภาพเดียวได้มอบเงินทุน 20 ล้านยูโรสำหรับการจัดการหมอกควันและพื้นที่พรุให้กับโครงการการจัดการพื้นที่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

มูฮัมมัด พูฮัต ดาฮาลัน ผู้อำนวยการอาวุโสของกองการจัดการป่าไม้ และผู้อำนวยการโครงการ GEF6-SMPEM ของรัฐบาลประเทศมาเลเซียได้กล่าวว่า ประเทศได้ดำเนินการตามสัญญาว่าด้วยการมอบที่ดินครึ่งประเทศให้เป็นพื้นที่ป่าซึ่งได้มีการตกลงกัน ณ การประชุม Rio Convention เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว โดยในพื้นที่ซึ่งมากกว่า 18 ล้านเฮกตาร์ มีพื้นที่ที่เป็นพื้นที่พรุเพียง 253,447 เฮกตาร์ หรือเพียง 5.27 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ถึงกระนั้น เมื่อกล่าวถึงความสำคัญของภูมินิเวศ พื้นที่พรุมีส่วนสำคัญในแผนการปกป้องและฟื้นฟูภูมินิเวศด้วยความสำเร็จอย่างมากมายมานานแล้ว แต่สิ่งที่ท้าทายก็ยังคงอยู่ เมื่อไฟป่าเป็นภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แม้ว่าการจัดการที่มีประสิทธิภาพจะทำให้ลดขนาดพื้นที่ไฟป่าและลดความเสียหายจากไฟป่าลงไปก็ตาม การใช้พื้นที่ที่มิใช่พื้นที่ป่าในด้านอื่นๆ เช่น การพัฒนาพื้นที่เขตเมืองอย่างรวดเร็ว เป็นการเสริมแรงกดดันไปยังพื้นที่บริเวณดินพรุ แต่ถึงอย่างนั้นพันธะสัญญาระดับสูงจากรัฐบาลกลางและหน่วยงานภาครัฐก็ทำให้มาเลเซียยังคงรักษาพื้นที่พรุได้ตามที่วางแผนไว้

สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนประเทศอื่นๆ พื้นที่พรุเปรียบเสมือนเรื่องที่น่าประหลาดใจ ในประเทศฟิลิปปินส์ มีการประชุมเชิงปฏิบัติการในมาเลเซียเมื่อปี 2005 ซึ่งดึงดูดความสนใจจากนักวิชาการต่างๆ ถึงการอาจมีพื้นที่พรุในประเทศของพวกเขาด้วย

“หลังจากการประชุมนั้น เราได้เริ่มจากเขตคุ้มครอง Agusan Marsh เพื่อหารือกับชุมชนในเรื่องการอนุรักษณ์พื้นที่ชุ่มน้ำ โดยให้ความตระหนักรู้และความรู้ด้านเทคนิคแก่ชุมชน และเราก็พบพื้นที่พรุ” แอนสัน แท็กแท็ก ประธานสมาคมถ้ำ พื้นที่ชุมน้ำ และฝ่ายระบบนิเวศอื่นๆ แห่งสำนักงานการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพกล่าว “นี่ทำให้เราเริ่มดำเนินการแผนปฏิบัติการจากสิ่งที่เราเรียนรู้มาจากพื้นที่พรุแห่งอื่น ตอนนี้เราพบพื้นที่พรุประมาณ 24 แห่ง ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมประมาณ 20,000 เฮกตาร์ โดยคิดเป็น 0.3 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ป่าไม้ ถึงแม้ว่าจะนี่เป็นจำนวนที่เล็กน้อยแต่ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะต่อการปล่อยมลพิษ”

รัฐบาลได้ทำงานในพื้นที่พรุหลายแห่ง โดยร่วมมือกับชุมชนเพื่อดูแลปกป้องภูมินิเวศ รวมไปถึงพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านบริเวณนั้นด้วย จากประสบการณ์การเรียนรู้จากประเทศอินโดนีเซียและไทย ทางฝ่ายยืนยันว่าจะมีการร่วมมือจากชุมชนโดยตรง ทั้งในด้านการวางแผนการใช้ที่ดิน การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รวมไปถึงการฟื้นฟูที่ดิน

ด้วยความร่วมมือกัน พวกเขาได้พัฒนาสภาพความเป็นอยู่ให้เป็นมิตรต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งช่วยให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถรับมือกับสภาพภูมิอากาศสุดขั้วได้แล้ว ยกตัวอย่างเช่น ผักตบชวาที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นปัญหาในพื้นที่ชุ่มน้ำ แต่ปัจจุบันผักตบชวาก็ถูกเก็บเกี่ยวและนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย

กอบศักดิ์ วันธงไชย คณบดีคณะวนศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประเทศไทย ได้เห็นชอบกับแท็กแท็กว่า การร่วมมือกับชุมชนในด้านการจัดการระบบนิเวศพื้นที่พรุ เป็นส่วนสำคัญในการปกป้องระบบนิเวศ รวมถึงสวัสดิภาพของผู้คนด้วย

“ชุมชนบริเวณโดยรอบพื้นที่ป่าพรุและรอบนอก ได้ข้องเกี่ยวกับการตัดไม้ผิดกฎหมาย เพื่อทำพื้นที่สำหรับปลูกปาล์มน้ำมันและเลี้ยงโคกระบือ หรือสร้างชุมชน ระบายน้ำและเผาป่า” เขากล่าว “สิ่งเหล่านี้ทำให้พื้นดินเสื่อมสภาพ สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และยังปล่อยคาร์บอนอีกด้วย แต่ผู้คนกับพื้นที่ป่าพรุไม่สามารถแยกออกจากกันได้ พวกเขาต้องอยู่ร่วมกัน ป่าพรุเป็นธนาคารอาหารและแหล่งรายได้ของชาวบ้านในท้องถิ่น หากพวกเขาหิวโหยหรือต้องการเงิน พวกเขาจะรวบรวมอาหารหรือวัตถุดิบที่พวกเขาพอจะขายได้”

ในการจัดการป่าอย่างยั่งยืน วันธงไชยและคณะได้สร้างความตระหนักให้กับชุมชน และให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการอนุรักษ์พื้นที่พรุ โดยมอบเทคโนโลยีและต้นแบบ และพัฒนาการร่วมมือข้ามภาคส่วน โดยการให้ชาวบ้าน นักวิจัย รัฐบาล และภาคเอกชนประสานงานร่วมกัน ในการพัฒนาของต้นแบบการทำงานทั้งสาม ทีมงานได้สร้างสารสนเทศเชิงกลยุทธ์สำหรับการอนุรักษ์ทั่วประเทศ การจัดโครงการสำหรับเยาวชน การจัดกิจกรรมทางสื่อ แผนการจัดการด้านต่างๆ การเพิ่มพูนความรู้ความสามารถผ่าน “คุณครูผืนป่า” และหาทุนพิเศษเพิ่มเติม เช่น วิธีการจัดหาเงินทุนและการพัฒนาวิสาหกิจป่าไม้ที่ซื้อขายผลผลิตจากป่าที่ไม่ใช่เนื้อไม้ พวกเขายังได้รวบรวมพื้นที่พรุในประเทศไทย และตั้งเกณฑ์และวิธีการสำหรับการประเมินยุทธศาสตร์ชาติอีกด้วย

คอนสวรรห์ หลวงราช ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมสิ่งแวดล้อม กรมสิ่งแวดล้อม ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เน้นย้ำถึงสถานการณ์ในลาวว่า ขณะที่มีการเน้นความสำคัญเช่นเดียวกันในด้านความตระหนักรู้ในชุมชน และความร่วมมือในการปกป้อง ฟื้นฟู และพัฒนาความเป็นอยู่ ก็ยังมีความเป็นเอกภาพ

“การจัดการพื้นที่พรุถือว่าเป็นสิ่งใหม่ต่อสปป.ลาว” เขากล่าว “โครงการหนึ่งที่ทำร่วมกับ FAO ในปี 2016–2021 ซึ่งเน้นความสนใจไปยังพื้นที่ชุ่มน้ำ ได้พบพื้นที่พรุในพื้นที่ชุ่มน้ำ Xe Champone และบึงเกียดโง้ง การอนุรักษ์พื้นที่พรุต้องมีการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ ผ่านการสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารท้องถิ่นและสภาพความเป็นอยู่ภายในและโดยรอบพื้นที่ชุ่มน้ำนั้นๆ”

เขาบ่งชี้ให้เห็นว่าความท้าทายในการรักษาพื้นที่พรุ คือการคงคุณประโยชน์ของพื้นที่ชุ่มน้ำทั้งหมดไว้ดังเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องผสมผสานทำงานร่วมกันระหว่างการอาศัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เพื่อช่วยดูแลถิ่นที่อยู่ของพืชหรือสัตว์และระบบนิเวศในการอพยพของปลาท้องถิ่น เขตสงวนอนุรักษ์แบบแยกเพียงอย่างเดียวจะไม่เพียงพอ เขากล่าวว่าเขื่อนต่างๆ และนาข้าวไม่ได้ให้คุณประโยชน์ที่เหมาะสมดีพอ แต่ยังเพิ่มปัญหามากขึ้นไปอีก

การแก้ไขปัญหามีหลากหลายวิธี เช่น การจัดให้มีตัวเลือกสภาพความเป็นอยู่ให้หลากหลาย, การแบ่งเขตพื้นที่ชุ่มน้ำ (และพื้นที่พรุ), การสร้างข้อตกลงว่าด้วยการใช้น้ำ, การฟื้นฟูพื้นที่กักเก็บน้ำ ทะเลสาบ และพื้นที่ชลประทาน, การปรับปรุงบ่อน้ำ, การหยุดทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำ, การควบคุมชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน, การฟื้นฟูป่ากักเก็บน้ำ, การจัดตั้งอนุบาลพืชและพันธุ์ปลา, การดำเนินแผนการเพื่อพัฒนาผลผลิตจากป่าที่ไม่ใช่เนื้อไม้, การจัดตั้งสมาคมแม่บ้าน, การปรับปรุงแผนการใช้พื้นที่, การทำแผนที่เส้นทางน้ำท่วม, การสำรวจพื้นที่กักเก็บน้ำ และการเฝ้าติดตามระดับน้ำและการใช้น้ำ

“หนทางสู่อนาคต” วงศก กล่าวทิ้งท้าย “คือการเพิ่มการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการจัดการพื้นที่พรุอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการพัฒนาและประยุกต์ใช้ยุทธศาสตร์การจัดการพื้นที่ป่าพรุของอาเซียน (2021-2030) และแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยการจัดการพื้นที่ป่าพรุในประเทศสมาชิกอาเซียน”

การประชุมที่อภิปรายโดยกีต้า ชยาห์รานี กรรมการบริหาร Lingkar Temu Kabupaten Lestari นี้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพื้นที่พรุในประเทศสมาชิกอาเซียนและทั่วโลก ทั้งยังได้มอบโอกาสในการลงทุนเพื่อปกป้องและฟื้นฟูพื้นที่พรุอีกด้วย

ลิงค์บทความ: https://forestsnews.cifor.org/75056/asean-peatlands-critical-in-mitigating-the-climate-crisis?fnl=en

Share this story

Supporter & Funder